ถนนเยาวราช

๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ 
สมมุติ พระราชบัณฑิต

ความรู้ ของสำนักราชบัณฑิต สยาม


ถนนเยาวราช

          เมื่อช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ถนนที่ได้รับความนิยมในการจับจ่ายซื้ออาหารเจกันมากก็เห็นจะเป็น ถนนเยาวราช นอกจากนี้ ถนนเยาวราชยังเป็นแหล่งรวมของร้านทองและเป็นย่านธุรกิจที่มีชื่อเสียง ถนนสายนี้เป็นถนนที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ พจนานุกรมวิสามานยนามไทย วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ ซึ่งราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ ได้เล่าถึงถนนเยาวราชไว้ว่า ถนนเยาวราช เริ่มต้นตั้งแต่ถนนจักรเพชรถึงถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนสายนี้สร้างขึ้นตามโครงการถนนอำเภอสำเพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้วเพื่อส่งเสริมการค้าขาย สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุงแล้ว ทำให้มีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น ถนนเยาวราชเป็นหนึ่งในถนนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเสนอให้สร้าง

          สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนน ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยให้ใช้ชื่อว่า ถนนยุพราช ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า ถนนเยาวราช การสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการทั้งในเรื่องของราษฎรขัดขวางการตัดถนนและเจ้าของที่ดินหลายรายจะขายที่ดินให้แก่คนในบังคับต่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ปัญหาเรื่องที่ดินที่ต้องตัดผ่านก็ยังไม่ยุติ จนในวันที่ ๔ มิถุนายน ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการตัดถนนต่อไป เพราะมีพระราชดำริว่าที่ดินซึ่งถูกตัดถนนผ่านไปนั้น ย่อมทวีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าจึงเป็นประโยชน์แก่เจ้าของมาก ทำให้การตัดถนนเยาวราชดำเนินต่อไปได้ เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ ๆ นั้น มีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น แม้ต่อมาถนนเยาวราชก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ เป็นที่ตั้งของ ตึก ๖ ชั้น ซึ่งเป็นตึกสร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญสายหนึ่งจนถึงปัจจุบัน.

          อิสริยา เลาหตีรานนท์


ที่มา : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

0 comments:

แสดงความคิดเห็น