ภูมิบุตร (Bumiputra)

๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ 
สมมุติ พระราชบัณฑิต

ความรู้ ของสำนักราชบัณฑิต สยาม


ภูมิบุตร (Bumiputra)

          วิธีการอย่างหนึ่งในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ คือ การเรียนรู้เรื่องราวทุกแง่มุมของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ตัวอย่างเช่น เวลาพูดถึงประเทศมาเลเซีย คำคำหนึ่งที่ได้ยินเอ่ยถึงเป็นประจำ คือคำว่า ภูมิบุตร  ภูมิบุตร  หมายถึงใคร  สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า

          ภูมิบุตรหรือบูมีปุตรา เป็นคำภาษามลายู มีความหมายตามตัวอักษรว่าบุตรของแผ่นดิน (Sons of the Soil) หรือเจ้าของแผ่นดิน (Princes of the Soil) ซึ่งหมายถึงชนเชื้อชาติมลายูในคาบสมุทรมลายูรวมทั้งชาวมลายูในรัฐซาราวัก (Sarawak) และรัฐซาบาห์ (Sabah) บนเกาะกาลิมันตัน (บอร์เนียว) ด้วย  ภูมิบุตรเป็นคำที่มวลชนชาวมลายูทุกกลุ่มอาชีพนำมาเอ่ยอ้างกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๙ เป็นต้นมา  ทั้งนี้เป็นการแสดงสิทธิ การพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์อันพึงได้ของชาวมลายูในฐานะเจ้าของถิ่นเดิมตามแนวความคิดทางการเมืองที่ว่า ประเทศมาเลเซียเป็นของชนเชื้อชาติมลายู  ภูมิบุตรอันเป็นแนวความคิดชาตินิยมนี้ ได้ก่อตัวขึ้นในกลุ่มชนชาวมลายูอย่างช้า ๆ และเป็นไปอย่างต่อเนื่องย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองดินแดนต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายูในรูปแบบการปกครองและกาลเวลาที่แตกต่างกันไป  แนวความคิดที่ว่า ชนเชื้อชาติมลายูเป็นภูมิบุตร ได้รับแรงกระตุ้นให้ตื่นตัวยิ่งขึ้นในสมัยญี่ปุ่นยึดครองมลายู และสิงคโปร์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๕)  จากนั้น คำ ภูมิบุตร ก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองขององค์กรและพรรคการเมืองสำคัญในการดำเนินการทางการเมือง  หลังจากได้รับเอกราชแล้ว คำ ภูมิบุตร กลายเป็นนโยบายการปกครองประเทศของรัฐบาลแห่งชาติมาเลเซียโดยกำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๓ ของรัฐธรรมนูญของประเทศมาเลเซีย ฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๗ และฉบับแก้ไข ค.ศ. ๑๙๗๑ ซึ่งมีสาระรับรองสถานภาพและอภิสิทธิ์ของชาวมลายูในฐานะเจ้าของแผ่นดินว่าแตกต่างไปจากชาวจีนมลายู (Chinese Malay) และชาวอินเดียมลายู (Indian Malay)

          แสงจันทร์  แสนสุภา


ที่มา : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

0 comments:

แสดงความคิดเห็น