|
ความรู้ ของสำนักราชบัณฑิต สยาม
มักกะลีผล
หิมพานต์ เป็นชื่อป่าหนาวแถบเหนือในประเทศอินเดียในปัจจุบัน แต่ป่าหิมพานต์ที่ปรากฏในงานวรรณกรรม เช่น เรื่องไตรภูมิพระร่วง หรือในงานจิตรกรรม เป็นดินแดนลึกลับมหัศจรรย์ยิ่ง อยู่ห่างไกลจากเมืองมนุษย์ เป็นที่อยู่ของผู้มีคุณวิเศษต่าง ๆ คือผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์หรือมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถไปถึงที่นั่นได้ ช่างโบราณของไทยจึงได้คิดประดิษฐ์ภาพทั้งสัตว์และต้นไม้ขึ้น สันนิษฐานว่าน่าจะได้แนวคิดมาจากวรรณกรรม ซึ่งภาพเขียนน่าจะมีลักษณะเชิงสมมุติกึ่งสมจริง
มักกะลีผล เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ช่างคิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้ประกอบภาพในงานจิตรกรรม ภาพต้นมักกะลีผลจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา เต็มไปด้วยใบ ดอก ผล ดูงดงาม ที่แปลกเป็นพิเศษคือเฉพาะผลที่มีรูปร่างอย่างมนุษย์เพศหญิง ที่เป็นเพศชายก็มีอยู่บ้าง ผลเหล่านี้จะห้อยอยู่ตามกิ่งก้านในอิริยาบถต่าง ๆ ปะปนกันไป ที่ยังเป็นผลดิบมีลักษณะกลมรี เมื่อเริ่มจะสุกจะมีเท้าโผล่ออกมาจากเปลือกคล้ายผลมะม่วงหิมพานต์ เมื่อเปลือกหลุดออกหมดแล้วเนื้อจะอยู่ในท่าขดตัวกลมเหมือนเด็กทารกขดตัวอยู่ในมดลูกของมารดา แล้วค่อย ๆ เหยียดแขนขาออก เมื่อผลแก่จัดจะมีลักษณะห้อยตัวยาว แขนขาเหยียดตรง ขั้วผลที่อยู่บนหัวมีกลีบเลี้ยงของผลปกอยู่ดูคล้ายหมวก
ช่างนิยมเขียนองค์ประกอบโดยรอบต้นมักกะลีผลเป็นภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ หรือเทวดา อยู่ในท่าเร่งรีบเหาะเหินมุ่งมายังต้นมักกะลีผล เพื่อเก็บผลก่อนที่จะงอมเน่าเสียไป ในภาพจึงมีทั้งที่เก็บได้แล้วอุ้มเชยชมอยู่ อุ้มเหาะไปบ้าง เพิ่งมาถึงกำลังเก็บบ้าง บางทีก็เป็นภาพที่เข้าแย่งชิงต่อสู้กันชุลมุนอยู่ในอากาศ พวกที่เหาะไม่ได้อย่างฤษีชีไพรจะเป็นภาพปีนป่ายอยู่ตามโคนต้นบ้าง ใช้ไม้สอยบ้าง
มักกะลีนี้บางทีก็เรียกว่า นารีผล คงเป็นเพราะส่วนใหญ่ผลที่ออกมามักเขียนเป็นมนุษย์ผู้หญิง
พัชนะ บุญประดิษฐ์
ที่มา : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
0 comments:
แสดงความคิดเห็น